top of page

แนะนำเกี่ยวกับอุปกรณ์ Clicker

          Clicker เป็นอุปกรณ์เครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้สอนในการนำเข้สู่บทเรียน วัดผลความเข้าใจในบทเรียนของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง (Formative Assessment) หรือวัดผลการเรียนรู้รวบยอด (Summative Assessment) นอกจากนี้ผู้สอนยังสามารถใช้ระบบ Clicker เป็นเครื่องมือเสริมกิจกรรมกลุ่ม กิจกรรมระดมสมอง (Brainstorming) หรือกิจกรรมแบบเพื่อนสอนเพื่อน (Peer Instruction) และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือให้ผู้เรียนประเมินการเรียนรู้ด้วยกันเอง (Peer Evaluation) รวมทั้งเก็บข้อมูลผู้เข้าเรียน

          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พิจารณานำอุปกรณ์ Clicker มาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของนิสิตซึ่งเหมาะสำหรับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางด้วยการปฏิรูปการเรียนรู้ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบ Active Learning โดยใช้แนวคิด การสอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น (Teach Less, Learn more) ด้วยการนำศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นตัวกระตุ้นในการจัดการเรียนการสอนในฐานะที่เป็น Technology-driven Learning การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวข้างต้นจะมิได้ลดเนื้อหาความรู้ให้น้อยลงแต่ผู้สอนจะต้องทำการวิเคราะห์เนื้อหาและปรับวิธีการสอนโดยนำเนื้อหาที่สามารถเรียนด้วยตนเองไปไว้บนเครือข่ายเพื่อให้ผู้เรียนศึกษาก่อนเข้าห้องเรียน ทั้งนี้อาจารย์จะได้ใช้เวลาในห้องเรียน ในการอภิปรายหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เรียนเพิ่มขึ้น โดยปรับกระบวนการสอนในห้องเรียนให้เป็น Active Learning ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ มีปฎิสัมพันธ์กับผู้สอนและผู้เรียน

           “คลิกเกอร์” เป็นอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนการสอนชนิดหนึ่ง ซึ่งรับผลจากการ “คลิก” ของผู้ใช้ ซึ่งก็คือผู้เรียน แล้วแสดงผลที่หน้าจอของผู้สอน ขั้นตอนการใช้งาน PRS เบื้องต้นมีวิธีการใช้งานดังนี้

  • ผู้สอนแสดงคำถามทีละข้อหน้าชั้นเรียน

  • ผู้เรียนส่งคำตอบโดยกดที่คลิกเกอร์

  • โปรแกรมคลิกเกอร์คำนวณคะแนนรวมของผู้เรียนแต่ละคน นำเสนอในรูปกราฟ

  • ผู้สอนเฉลยคำตอบ พร้อมกันนั้นผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันอภิปราย

 คลิกเกอร์ ช่วยส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างไร?

           

เหตุผลที่ผู้สอนควรเลือกใช้คลิกเกอร์ เพราะคลิกเกอร์มีความสามารถดังต่อไปนี้

  • ช่วยดึงความสนใจของผู้เรียน จากการศึกษาพบว่า ผู้เรียนจะมีสมาธิเพียง 10-18 นาที หลังจากเริ่มต้นการบรรยาย เมื่อผู้สอนนำคลิกเกอร์เข้ามาแทรกการบรรยายบ่อยๆ จะช่วยดึงความสนใจของผู้เรียนให้ได้นานขึ้น

  • ช่วยให้ผู้เรียนตื่นตัวมากขึ้น การเลือกคำถามที่ดีและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนตอบคำถาม เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้สะท้อนแนวคิดเพื่อการประยุกต์ใช้งานของตนมาตอบคำถาม

  • ช่วยให้ผู้เรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในชั้นเรียน เพราะผู้เรียนทุกคนต้องใช้คลิกเกอร์ในการทำกิจกรรม

  • ช่วยให้ผู้เรียนที่ไม่มั่นใจในตัวเองมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้โดยไม่รู้สึกเคอะเขิน  ผู้เรียนตอบคำถามผ่านคลิกเกอร์อย่างเป็นส่วนตัว ผู้เรียนที่ไม่ค่อยแสดงออกในชั้นเรียน สามารถแสดงความคิดของตนผ่านคลิกเกอร์ได้

  • ช่วยให้ผู้สอนทราบระดับความเข้าใจในเนื้อหาของผู้เรียน ผู้สอนจะทราบว่าผู้เรียนสามารถจับใจความสำคัญของเนื้อหาได้หรือไม่ในทันทีทันใด  เป็นการทราบผลตอบรับของการสอนอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องจนถึงช่วงสอบหรือผลการตรวจการบ้าน

  • ช่วยให้ผู้สอนปรับการสอนตามเนื้อหาที่ผู้เรียนยังไม่แม่นยำได้ทันที 
    หากจำนวนผู้เรียนที่ตอบผิดในข้อหนึ่งสูงในปริมาณหนึ่ง ผู้สอนสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ทันที หรือหากข้อนั้นผู้เรียนจำนวนมากตอบถูก ผู้สอนสามารถข้ามการอธิบายในข้อนั้นได้ทันที

Clicker กับ ชั้นเรียน (Teaching with a Clicker)

 

           การนำ Clicker มาใช้ในชั้นเรียนนั้น ผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายมิติ ในที่นี้ ผู้เขียนได้เสนอตัวอย่างการนำไปใช้เพียง 2 มิติ คือ การตั้งคำถามในชั้นเรียน และ การจัดกิจกรรมในชั้นเรียน

 

การตั้งคำถามในชั้นเรียน

 

           ผู้สอนหลายๆ ท่านเห็นว่าคำถามแบบตัวเลือกใช้วัดได้เพียงความจำของผู้เรียนเท่านั้น อันที่จริงการใช้ PRS ร่วมกับคำถามแบบตัวเลือกจะช่วยให้ผู้สอนได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นอีกมาก เป็นต้นว่า ทักษะการคิดขั้นสูงของผู้เรียน เพราะ PRS ทำหน้าที่ 2 ประการ คือ ช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนและวัดระดับความรู้ ความเข้าใจ ทักษะต่างๆ ของผู้เรียน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการออกแบบคำถามของผู้สอน คำถาม PRS แบบตัวเลือกที่ดีนั้นแตกต่างจากคำถามแบบตัวเลือกในข้อสอบค่อนข้างชัดเจน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำถามแบบ PRS ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

  • คำถามเช็คความจำ  ช่วยให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้ เนื้อหาที่สำคัญ รวมไปถึงเทคนิคต่างๆ คำถามประเภทนี้ใช้เพื่อเช็คว่าผู้เรียนยังจำสาระสำคัญของการบรรยายครั้งที่แล้วได้หรือไม่ คำถามประเภทนี้ไม่ได้นำไปสู่การอภิปรายในชั้นเรียนและการคิดเชิงวิเคราะห์ชั้นสูง

  • คำถามเช็คความเข้าใจ  เป็นขั้นกว่าของคำถามเช็คความจำ ช่วยวัดระดับความเข้าใจของผู้เรียนได้ ตัวเลือกคำตอบของคำถามประเภทนี้ส่วนใหญ่จะตั้งตามความเข้าใจผิดในหัวข้อต่างๆ ของผู้เรียน ดังนั้น ข้อที่ผู้เรียนตอบผิดจะเป็นตัวบอกผู้สอนว่าผู้เรียนยังไม่เข้าใจเนื้อหาส่วนใด ตัวอย่างของคำถามประเภทนี้ ได้แก่ คำถามให้ยกตัวอย่าง, คำถามจับคู่, คำถามให้อธิบายแนวคิด, คำถามที่ให้อธิบายแนวคิดใดๆ ในหลากหลายวิธี เป็นต้น

  • คำถามเชิงประยุกต์  ในการตอบคำถามลักษณะนี้ ผู้เรียนจะต้องประยุกต์ใช้ความรู้ ความเข้าใจ ตามแต่ละสถานการณ์ของโจทย์ คำถามประเภทนี้จะนำให้ผู้เรียนต้องตัดสินใจ, เลือกทางเลือก, เชื่อมโยงเนื้อหาที่เรียนเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง, สร้างสรรค์กระบวนการหรือเทคนิคใหม่ๆ, หรือทำนายผลของการทดลองหรือการตอบสนองของเพื่อนร่วมชั้นต่อปัญหาแบบต่างๆ

  • คำถามเชิงวิเคราะห์  คำถามประเภทนี้นำไปสู่ความเข้าใจขั้นสูงตามหลักการ Bloom’s taxonomy เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดที่หลากหลายหรือประเมินสถานการณ์ต่างๆ ผู้สอนไม่ควรออกแบบตัวเลือกคำตอบให้กับคำถามประเภทนี้ เพราะเหตุผลที่ผู้เรียนเลือกหรือตัดตัวเลือกใดๆ นั้นมีความน่าสนใจมากกว่าตัวเลือกสุดท้ายที่ผู้เรียนเลือกมาก นอกจากนี้ ผู้สอนยังสามารถจัดการอภิปรายในชั้นเรียนเกี่ยวกับข้อความ คำตอบ และเหตุผลสนับสนุนของผู้เรียนแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มได้อีกด้วย

  • คำถามเชิงทัศนคติ  เป็นลักษณะคำถามปลายเปิด ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ผู้เรียนจะได้แบ่งปันความคิดเห็น ประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งข้อมูลส่วนบุคคล ร่วมกัน ในการทำความเข้าใจทัศนคติของเพื่อนร่วมชั้น ผู้เรียนแต่ละคนจะสวมบทบาททั้งผู้สอนและผู้เรียนในชั้นเรียนเดียวกัน ผู้เรียนทุกคนจะมีส่วนร่วมในการอภิปรายที่มีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อคำถามที่เกี่ยวกับจริยธรรม กฎหมาย และศีลธรรม ผู้เรียนจะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์ของตนและเนื้อหาที่ศึกษา ผู้สอนควรใช้คลิกเกอร์แบบปิดบังชื่อผู้กดกับคำถามประเภทนี้

  • คำถามวัดความมั่นใจ  ผู้สอนอาจเริ่มต้นด้วยการถามคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาทั่วไป แล้วตามด้วยคำถามเพื่อให้ผู้เรียนบอกระดับความมั่นใจของตนในการตอบคำถามนั้น การใช้คำถามนี้จะช่วยให้ผู้สอนได้เข้าใจถึงความเข้าใจของผู้เรียน การให้ผู้เรียนได้ประเมินความมั่นใจของตนในทันทีทันใดก็มีส่วนช่วยในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการรู้คิด (metacognition-learning) ได้อีกด้วย ผู้สอนยังสามารถใช้คำถามวัดความมั่นใจเพื่อวัดความมั่นใจของผู้เรียนที่มีต่องานที่ผู้เรียนได้รับมอบหมายจากผู้สอนหรือต่อคำถามที่ผู้สอนได้ถามไปได้อีกด้วย

  • คำถามเพื่อสังเกตการณ์  คำถามลักษณะนี้ช่วยให้ผู้สอนได้ทราบกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ผู้สอนอาจจะถามถึงการเตรียมตัวสอบของผู้เรียน, ระยะเวลาที่ผู้เรียนใช้ในการทำ assignment, ระดับความยากของ assignment, วิธีคิดของผู้เรียนในการทำ assignment เป็นต้น คำถามลักษณะนี้อาจถูกนำมาใช้ในช่วงกลางของภาคเรียนและนำไปเชื่อมโยงกับการประเมินการเรียนการสอนปลายภาคเรียน

 

 

การจัดกิจกรรมในชั้นเรียน

 

           การจะใช้คลิกเกอร์ในการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนให้ได้ผลดีนั้น ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้ควบคู่ไปด้วย คือ ความเข้ากันระหว่างเนื้อหาที่จะสอนกับกิจกรรม, เวลาในการจัดกิจกรรม, วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม, และ สไตล์การสอนของผู้สอนเอง เป็นต้น แต่ละกิจกรรมล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนได้ไม่มากก็น้อย

  • การเข้าชั้นเรียน (Attendance) คลิกเกอร์ช่วยผู้สอนเช็คจำนวนผู้เข้าชั้นเรียนในแต่ละครั้งได้

  • การประเมินผลรวม (Summative Assessment) ผู้สอนสามารถใช้คลิกเกอร์ในการประเมินผลการเรียนได้ โดยใช้คลิกเกอร์กับการทดสอบย่อยในชั้นเรียนหรือการสอบกลางภาค/ปลายภาค ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรุ่นของคลิกเกอร์ที่ผู้สอนใช้ว่ามีฟังก์ชั่นเสริมหรือไม่

  • การประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Assessment) คลิกเกอร์ช่วยให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนได้ประเมินตนเองอย่างทันทีทันใด เพราะเมื่อผู้สอนแสดงคำถามผ่านหน้าจอ ผู้เรียนส่งคำตอบผ่านคลิกเกอร์ ผู้สอนเฉลยคำตอบ ผู้เรียนได้ประเมินตนเองในทันทีที่ทราบเฉลย ผู้สอนได้ประเมินว่าเนื้อหาที่ผู้เรียนส่วนใหญ่ยังมีข้อสงสัยหรือเอหาที่ผู้เรียนส่วนใหญ่เข้าใจแล้วคืออะไร ทั้งผู้เรียนและผู้สอนล้วนได้มองเห็นตนเองและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น นอกจากนี้ คลิกเกอร์บางรุ่นยังมีฟังก์ชั่นให้ผู้เรียนส่งระดับความมั่นใจของตนในการตอบคำถามได้อีกด้วยถือเป็นข้อมูลที่มีค่ายิ่งแก่ผู้สอน อย่างไรก็ดี ผู้สอนสามารถประยุกต์เพิ่มเติมด้วยการเพิ่มคะแนนพิเศษให้ผู้เรียนที่ตอบถูก เพื่อให้ผู้เรียนตั้งใจตอบคำถามผ่านคลิกเกอร์ หรือผู้สอนอาจจะให้คะแนนที่น้อยกว่าสำหรับผู้เรียนที่ตอบผิด หรือให้คะแนนการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนจากการวิเคราะห์การใช้คลิกเกอร์ของผู้เรียนแต่ละคน

  • การรวบรวมการบ้าน (Homework Collection) ผู้สอนอาจมอบหมายโจทย์หรือคำถามให้ผู้เรียนทำที่บ้าน แต่ส่งคำตอนต้นคาบเรียนผ่านคลิกเกอร์ได้

  • เปิดการอภิปราย (Discussion Warm-Up) ผู้สอนให้ผู้เรียนส่งคำตอบของคำถามนำบทเรียนด้วยคลิกเกอร์ หลังจากให้ผู้เรียนแต่ละคนได้ใช้เวลาคิดไตร่ตรองแต่ละตัวเลือกแล้ว และเมื่อผู้สอนเฉลยตัวเลือกที่ถูกต้องที่สุดแล้ว จึงนำไปสู่การอภิปรายถึงตัวเลือกแต่ละข้อ ผู้สอนจะได้เข้าใจถึงวิธีการคิดของผู้เรียนที่เลือกตอบแต่ละตัวเลือกนั้น กิจกรรมนี้ดีกว่าการให้ผู้เรียนยกมือขึ้นตอบในชั้นเรียน เพราะผู้เรียนทุกคนจะได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดของตน

  • การสอนตามสถานการณ์ (Contingent Teaching) เพราะคลิกเกอร์ช่วยให้ผู้สอนได้รู้ว่าเนื้อหาส่วยใดที่ผู้เรียนเข้าใจแล้ว ข้ามได้ หรือส่วนใดที่ผู้เรียนยังไม่ค่อยเข้าใจ ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม หรือแม้กระทั่งต้องการการอภิปรายในชั้นเรียน ได้โดยทันทีทันใดขณะที่ทำการสอน แผนการสอนถูกปรับไปตามแต่สถานการณ์ของชั้นเรียน การเรียนการสอนลักษณะนี้ เรียกว่า “agile teaching” โดย Beatty e. al. (2006) ถึงแม้ว่าจะมีหลายวิธีที่ผู้สอนจะรู้ว่าผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาที่บรรยายหรือไม่ แต่การใช้คลิกเกอร์เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้สอนได้รู้เร็วขึ้น

  • การอภิปรายกับเพื่อนร่วมชั้น (Peer Instruction) เมื่อผู้สอนพบว่าผู้เรียนส่วนใหญ่ตอบคำถามผิด ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ปรึกษากับเพื่อนร่วมชั้น เป็นการอภิปรายกลุ่มเล็ก แล้วจึงให้ผู้เรียนส่งคำตอบผ่านคลิกเกอร์อีกครั้ง โดยส่วนใหญ่แล้วจำนวนผู้เรียนที่ตอบถูกจะเพิ่มขึ้น กิจกรรมนี้ดึงให้ผู้เรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมกับการอภิปรายในชั้นเรียนและให้ความสนใจกับเอกสารประกอบการบรรยายมากขึ้น

  • การถามซ้ำ (Repeated Questions) การอภิปรายกับเพื่อนร่วมชั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของการถามซ้ำ แต่ผู้สอนสามารถประยุกต์ใช้เพิ่มเติมได้อีก เช่น ผู้สอนใช้คำถามเดิมถามซ้ำ แต่มีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยไกด์ผู้เรียน, ผู้สอนถามซ้ำควบคู่กับการอภิปรายกลุ่มใหญ่ เป็นต้น  แต่ในบางครั้งการเปลี่ยนคำถามก็เป็นวิธีที่ดีในการดึงให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าทั้งจากเอกสารประกอบการสอนและจากแหล่งความรู้อื่นๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเทคนิคของผู้สอนแต่ละท่าน

  • การใช้คำถามชี้นำการบรรยาย (Question-Driven Instruction) ผู้สอนเตรียมคำถามสำหรับหลายๆ หัวข้อไว้ล่วงหน้า ผู้เรียนต้องตอบคำถามทุกข้อผ่านคลิกเกอร์ หากผู้เรียนตอบคำถามหัวข้อแรกได้ดี ผู้สอนให้ผู้เรียนตอบคำถามในหัวข้อถัดไปได้ทันที แต่หากผู้เรียนยังตอบได้ไม่ดีเท่าที่ควร ผู้สอนสามารถนำเทคนิค “การอภิปรายกับเพื่อนร่วมชั้น” มาใช้ควบคู่กันได้

  • เลือกการผจญภัยด้วยคุณเอง (Choose Your Own Adventure Classes) ผู้สอนตั้งคำถามพร้อมด้วยตัวเลือกกิจกรรมหรือวิธีการหาคำตอบด้วยเพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้เลือก ในบางครั้ง ผู้เรียนช่วยผู้สอนคิดวิธีหาคำตอบได้ด้วย ซึ่งผู้สอนต้องเปิดกว้างที่จะทำกิจกรรมที่อาจจะไม่ได้วางแผนไว้ก่อนล่วงหน้าด้วย

 

 

ความท้าทายของคลิกเกอร์ในชั้นเรียน

 

           ถึงแม้ว่าคลิกเกอร์จะมีเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญใน Active Learning Class อย่างไรก็ดี การใช้คลิกเกอร์ก็มีความท้ายทายในหลายๆ ด้าน ดังนี้

  • ปัญหาทางเทคนิค  เพื่อหลีกลี่ยงปัญหาทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้สอนควรเผื่อเวลาในการเตรียมอุปกรณ์ก่อนเริ่มชั้นเรียน หรือแม้กระทั่งเตรียมแผนกิจกรรมสำรองในกรณีที่อุปกรณ์คลิกเกอร์ไม่พร้อมใช้งาน

  • ครั้งแรกของการใช้งานมักใช้เวลา  ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีเวลาส่วนหนึ่งต้องเสียไปกับการเรียนรู้เพื่อใช้งานในครั้งแรก ผู้สอนอาจขอให้ผู้ที่เคยใช้คลิกเกอร์เข้ามาอยู่ในชั้นเรียนด้วยในช่วงแรกๆ การปรับแผนการสอนอย่างกะทันหันเพื่อใช้คลิกเกอร์กับเนื้อหาที่ผู้สอนได้จุดประกายขึ้นก็เป็นเรื่องที่ท้าทายเช่นกัน ผู้สอนอาจเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนในจุดเล็กๆ ก่อน

  • การตั้งคำถามคลิกเกอร์ที่ดีเป็นเรื่องที่ท้าทาย  เพราะลักษณะคำถามเป็นแบบตัวเลือก ความท้าทายคือ ทำอย่างไรไม่ให้คำถามคลิกเกอร์เป็นเพียงแบบทดสอบความจำหรือความเข้าใจเท่านั้น ผู้สอนสามารถดึงเอาความรู้ หรือ ความเข้าใจที่ผิดมาเป็นตัวเลือกที่ผิดได้ การที่ผู้สอนใช้คำถามปลายเปิดแล้วปรับเอาคำตอบของผู้เรียนมาใช้เป็นคำถามคลิกเกอร์ผู้สอนนำเอาคำตอบหรือคำแนะนำที่ดีของผู้เรียนมาเป็นหนึ่งในตัวเลือก ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ผู้สอนประยุกต์ได้ทั้งสิ้น

  • การใช้คลิกเกอร์อาจกินเวลาในการบรรยาย  เวลาบางส่วนอาจค่อยๆ เสียไประหว่างการทำกิจกรรม เช่น การแจกอุปกรณ์, การรอให้ผู้เรียนทุกคนกดคลิกเกอร์ส่งคำตอบ, การพูดคุยของผู้เรียน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีหลายเทคนิคที่ผู้สอนจะนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเวลา เช่น ใช้คลิกเกอร์เพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจของผู้เรียนหลังจากมอบหมายให้อ่านเนื้อหาล่วงหน้า ใช้ฟังก์ชั่นจำกัดเวลาในการตอบคำถาม ผู้สอนบางท่านพบว่าผู้เรียนต้องการเวลาในการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารประกอบการเรียนและจดโน้ตเพิ่มเติม ผู้สอนบางท่านยังพบว่าคลิกเกอร์ช่วยให้ผู้สอนได้ปรับปรุงเอกสารประกอบการสอนให้ดียิ่งขึ้น เพราะ คลิกเกอร์ทำให้ผู้สอนได้เห็นว่าผู้เรียนเข้าใจและยังไม่เข้าใจเนื้อหาส่วนใดบ้าง

  • คลิกเกอร์ช่วยให้ผู้สอนเข้าใจถึงความเข้าใจที่ผิดของผู้เรียน  การที่ผู้เรียนมีความเข้าใจที่ผิดเป็นเรื่องปกติ แต่การได้รู้ว่าผู้เรียนเข้าใจผิดเพราะอะไรเป็นเรื่องสำคัญ หลายครั้งที่ผู้สอนรู้สึกประหลาดใจกับตัวเลือกผิดที่ผู้เรียนที่ตอบผิดทั้งหมดเลือก เมื่อเจอสถานการณ์จากผลของคลิกเกอร์ผู้สอนก็สามารถถามผู้เรียนได้ทันทีถึงวิธีการพิจารณาตัวเลือก

  • คลิกเกอร์อาจทำให้ผู้สอนต้องปรับแผนการสอนแบบฉับพลัน  เมื่อผู้สอนเจอกับสถานการณ์ที่ว่า ผู้เรียนยังไม่เข้าใจเนื้อหาที่จบไปแล้ว แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องขึ้นหัวข้อถัดไป หรือเมื่อมีผู้เรียนเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่ตอบคำถามผ่านคลิกเกอร์ได้อย่างถูกต้อง หรือเมื่อผู้เรียนยังไม่เข้าใจเนื้อหาในขณะที่ผู้สอนได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสถานการณ์คับขันที่ผู้สอนควรเตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้า

  • คลิกเกอร์นำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียนขนาดใหญ่  ในบางครั้ง ผู้สอนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอภิปรายในห้องใหญ่หลังจากการใช้คลิกเกอร์ได้ ในระหว่างการอภิปราย ผู้สอนจะต้องแสดงหลายบทบาท ทั้งผู้ดำเนินการอภิปราย ผู้ควบคุมกฎ ผู้ฟัง ผู้เรียน ผู้สอน ผู้ตัดสิน ฯลฯ สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้สอนต้องสามารถควบคุมการอภิปรายให้ได้

Call

Tel  : 02 218 2539   Fax : 02 218 2542

Follow me

  • facebook

© 2014 by Education Technology Center Chulalongkorn University created with Wix.com
 

bottom of page